สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1699  ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดิน แล้วแต่กรณี

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9599/2553 การตัดไม่ให้ทายาทโดยธรรมได้รับมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 กำหนดไว้ 2 กรณี กรณีแรกคือเจ้ามรดกแสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมโดยชัดแจ้งด้วยการระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก กรณีที่สองคือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดโดยไม่มีทายาทโดยธรรมคนที่เจ้ามรดกประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกมีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ ในพินัยกรรมนั้น เมื่อตามพินัยกรรมไม่ระบุว่าตัดโจทก์มิให้รับมรดกโดยชัดแจ้งและที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท 6 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์นั้น มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีสิทธิในกองมรดกของ อ. ครึ่งหนึ่งในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทตามข้อ 5 ของพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกที่ได้รับการยกให้มาจาก พ. จึงเป็นคนละส่วนกัน เมื่อตามพินัยกรรมข้อ 5 คงมีแต่คำสั่งของเจ้ามรดกที่ให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมิได้มีคำสั่งของเจ้ามรดกว่า หากการชำระหนี้มีเงินเหลือให้ตกได้แก่ผู้ใด หรือหากมีกรณีที่ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามนั้นจะให้ตกได้แก่ผู้ใด ทั้งปรากฏว่าได้มีการไถ่ถอนทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเรื่องการชำระหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้เป็นอันไร้ผล ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 และ 1620 วรรคสอง โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตร 8 คน ของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิได้รับหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 1633

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3381/2549 เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 3 ตกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกส่วนนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 ผู้ร้องมิได้เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่นฝ่ายเดียว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2534

  • ผู้ร้องอ้างสิทธิในคำร้องขอจัดการมรดกว่าร้องขอในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรม มิได้ร้องขอในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย เมื่อผู้คัดค้านอ้างในคำคัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวผู้ร้องทำปลอมขึ้นปัญหาว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ย่อมเป็นประเด็นที่จำต้องวินิจฉัยเพราะหากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้นผู้ร้องย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(5) จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดก แม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ถูกต้องได้ ท. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมข้อ 9 และข้อ 10 ตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้จึงเป็นอันตกไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคสอง กล่าวคือต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมหรือพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านมีความประพฤติดีไม่เคยทำร้ายหรือเป็นหนี้เจ้ามรดกดังคำพยานผู้ร้อง ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นเหตุไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องและ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน.